เรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกของการร่วมมือกัน เพื่อสร้างสรรค์งานออกแบบและการตกแต่งไอเดียใหม่ๆ เมื่อ 3 องค์กรใหญ่ ประกอบด้วย dwp I Design Worldwide Partnership บริษัทที่ปรึกษาด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบระดับสากล ที่มีประสบการณ์มาหลายสิบปีในประเทศไทยและมีผลงานมากมายในระดับโลก จับมือกับชาเทรียม แกรนด์ กรุงเทพ” (Chatrium Grand Bangkok) โรงแรมระดับลักชูรี่ ใจกลางย่านสยาม และดึงพันธมิตรฝีมือดี Beyond Living บริษัทชั้นนำด้านการออกแบบและผลิตผลิตภัณฑ์ตกแต่งบ้านและโรงแรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมเชิญสื่อมวลชนและผู้สนใจ เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ในการสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจและให้เห็นคุณค่าของงานฝีมือที่สร้างสรรค์จากวัสดุเหลือใช้ และซึมซับแนวคิดการออกแบบและตกแต่งของโรงแรม ภายใต้คอนเซ็ปต์ใหม่ “การออกแบบเพื่อโลกยั่งยืน”
Mr. Rene Balmer, Group General Manager | Chatrium Hotels and Residences กล่าวว่า “สำหรับโรงแรม ชาเทรียม แกรนด์ กรุงเทพ เป็นโรงแรมระดับลักชูรี่ ในกลางกรุงเทพ พร้อมด้วยความสะดวกสบายของการคมนาคมที่ง่ายและใกล้กับห้างสรรพสินค้า โดยมี 562 ห้อง อาคาร 2 หลัง สูง 32 ชั้น อาคาร A เป็นพื้นที่ส่วนกลางของโรงแรม มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย เช่น ห้องอาหาร ห้องแกรนด์บอลลูม ห้องประชุม ห้องอาหารพิเศษ บาร์ริมสระ และสระว่ายน้ำขนาดใหญ่ อาคารนี้ออกแบบมาเพื่อให้มองเห็นวิวเมืองแบบเปิด แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของกรุงเทพ ได้ดีที่สุด โดยนำเสนอมุมมองที่ไร้ขอบเขตของเมือง ทำให้แขกสามารถดื่มด่ำกับทิวทัศน์เมืองที่มีชีวิตชีวาของกรุงเทพได้อย่างเต็มที่ เพิ่มประสบการณ์การเข้าพัก
อาคาร B ผสมผสานระหว่างธุรกิจและความหรูหรา โดยมีสำนักงานให้เช่าบริเวณชั้นล่างและห้องชุดพักอาศัย เพนต์เฮาส์ และห้องรับรองพิเศษที่ชั้นบน สิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมบนชั้น 5 และ 7 ได้แก่ ห้องออกกำลังกาย สนามเด็กเล่น โซนสปา ห้องประชุมและห้องเตรียมงานเต็มรูปแบบ โดยแต่ละอาคารถูกออกแบบมา เพื่อให้มองเห็นวิวเมืองแบบเปิดด้วยโครงสร้างอันเป็นเอกลักษณ์ บวกกับได้ทีมออกแบบและตกแต่งภายในมืออาชีพ ทำให้แขกสามารถดื่มด่ำกับทิวทัศน์เมืองที่มีชีวิตชีวาของกรุงเทพ ได้อย่างเต็มที่ เพิ่มประสบการณ์การเข้าพัก”
นางสาวขนิษฐา พัฒนพณิชกุล Design Director จาก dwp I Design Worldwide Partnership เล่าให้ฟังถึงคอนเซ็ปต์ในการออกแบบและตกแต่งโปรเจ็คต์นี้ว่า “สำหรับโปรเจ็คต์นี้ ทีมออกแบบ dwp ได้ทำให้กับทาง ชาเทรียม แกรนด์ กรุงเทพ เราเน้นการออกแบบที่แสดงออกถึงผลงานความสวยงาม ร่วมสมัย ทนทานและบำรุงรักษาง่ายภายใต้คอนเซ็ปต์ Thai Splendid เป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทยและรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่โดยนำโทนสีทองมาเป็นโทนสีหลักในโซนล็อบบี้ เพื่อสร้างความอบอุ่นและเป็นกันเองกับแขกผู้มาเยือน สะท้อนผ่านงานศิลปะฝาผนังแบบทำมือ สื่อถึงเป็นการต้อนรับแขกแบบไทย และไม่ลืมในเรื่องของการออกแบบอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำลังเป็นกระแสที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและมองไปในทิศทางเดียวกัน และ dwp ก็ให้ความสำคัญกับแนวคิดนี้ด้วยเช่นกัน ในส่วนการเลือกใช้วัสดุพื้นผิวในบริเวณต่างๆ จะเห็นว่าเราเลือกใช้หินอ่อนเป็นหลัก เพื่อช่วยเสริมความอบอุ่น สบายตา สร้างความหรูหราไปพร้อมๆ กัน รวมไปถึงบริเวณห้องอาหารที่ออกแบบ ภายใต้ธีม Bangkok Fusion ก็ดีไซน์มาให้สอดคล้องในลักษณะเดียวกัน เพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่และสร้างความประทับใจให้กับผู้เข้ามาใช้บริการ
ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งของการออกแบบและตกแต่งครั้งนี้ คือการนำลวดลายผ้าไทยโบราณ โดย จิม ทอมป์สัน เพื่อผสมผสานวัฒนธรรมไทยและสถาปัตยกรรมสมัยใหม่เข้าด้วยกันอย่างลงตัวและแก่นแท้ของศิลปะไทย โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ร่วมด้วย เพื่อสร้างความโดดเด่นและยั่งยืนให้กับโปรเจ็กต์นี้ ผู้มาใช้บริการก็จะได้ร่วมดื่มด่ำกับประสบการณ์ทางวัฒนธรรมที่แท้จริงอย่างเต็มที่ด้วย”
ด้าน นางสาวเพลินจันทร์ วิญญรัตน์ นักออกแบบสิ่งทอชื่อดัง เจ้าของบริษัท บียอนด์ ลิฟวิ่ง จำกัด ผู้รับหน้าที่ในการสร้างสรรค์ กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการทำงานในครั้งนี้ว่า “ด้วยคอนเซ็ปต์ของโรงแรมและโจทย์ที่ได้รับจากทีมออกแบบ ที่อยากดีไซน์ที่อยากได้ความเป็นไทยที่ดูร่วมสมัย มีความโมเดิร์นเพื่อให้เข้ากับสถานที่ เราได้มีโอกาสไปชมส่วนต่างๆ ของโรงแรมและบริเวณโดยรอบแล้ว ซึ่งติดกับคลองแสนแสบ ที่เปรียบเสมือนชีวิต เป็นศูนย์กลางด้านการเดินทางทางน้ำของคนกรุงเทพ ยิ่งพอได้เห็นแสงอาทิตย์กระทบกับผิวน้ำในยามเย็นที่เต็มไปด้วยประกายสีทองสว่างไสว เรื่อยไปจนถึงช่วงค่ำคืน แสงสีทองถูกสลับด้วยแสงไฟนีออนหลากสีจากผับบาร์ บ้านเรือนริมคลอง ซึ่งมันงดงามมาก จึงนำเรื่องราวของแสงสะท้อนผิวน้ำในคลองแสนแสบแห่งนี้ มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำงาน ยิ่งไปกว่านั้นคือ จิม ทอมสัน เฮาส์ ก็มีเรื่องราวของผ้าไหมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เราจึงได้ไอเดียโดยนำเทคนิคการทอผ้าไหมมารังสรรค์เป็นงานอาร์ต ซึ่งวัสดุที่ใช้ในงานนี้ จะเป็นชิ้นส่วนของผ้า เส้นฝ้าย เส้นไหมหรือดิ้นทองหลากสี ที่เหลือจากการตัดเย็บในออเดอร์ใหญ่เรานำกลับมาใช้ใหม่ เพิ่มมูลค่าด้วยการสร้างสรรค์เป็นผลงานในโปรเจ็คต์นี้
สิ่งที่เรากำลังสอดแทรกไปกับผลงานนี้ คือการทำให้คนในสังคม ได้รู้ซึ้งถึงคุณค่าของการนำกลับมาใช้ใหม่ได้ตระหนักถึงการช่วยกันลดขยะ ไม่สร้างภาระให้กับโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดยืนในการทำงานของเราที่เน้นหลัก Zero Waste มาโดยตลอด อยากจะฝากถึงผู้ที่ชื่นชอบด้านงานสิ่งทอหรืองานฝีมือประเภทอื่น นอกเหนือจากงานศิลปะจะช่วยด้านจิตใจ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์แล้ว อยากให้ช่วยกันใส่ใจในเรื่องของการสร้างสรรค์ผลงาน สร้างไอเดียใหม่ๆ จากการใช้วัสดุเหลือใช้รอบๆ ตัว นำมาครีเอตเป็นผลงานที่สร้างความแตกต่าง ซึ่งจะช่วยลดขยะ ไม่สร้างภาระให้กับโลกเราได้อีกทางหนึ่งด้วย” นางสาวเพลินจันทร์ กล่าวทิ้งท้าย